
JAPAN
วัฒนธรรมโอตาคุ กับภาพลักษณ์ในสังคมญี่ปุ่น
ทุกท่านเคยได้ยินคำว่า “โอตาคุ” ไหมครับ และถ้าหากเคยได้ยินมา ทุกท่านพอจะทราบไหมครับว่า “โอตาคุ” คืออะไร และมีภาพลักษณ์ยังไงในสังคมญี่ปุ่น ต้องยอมรับว่าสมัยเรียนผมก็เคยเป็น “โอตาคุ” ครับ มันก็สนุกดีครับ ที่เราได้มีอะไรให้ได้ยึดเหนี่ยวจิตใจ ณ ตอนนั้น ได้สนุกไปกับมัน และในวันนี้ผมจะพาทุกท่านไปรู้จักกับคำคำนี้กันครับว่าสรุปแล้วมันคืออะไรกัรแน่!
โอตาคุคืออะไร
ต้องบอกว่าเดิมที คำว่า “โอตาคุ” (おたく หรือ 御宅) เป็นคำสุภาพที่ใช้ในการเรียกผู้อื่น โดยมีความหมายว่า “บ้านของคุณ” หรือ “คุณ” แต่ในช่วงทศวรรษที่ 1980 มีนักข่าว Akio Nakamori ได้นำคำนี้มาใช้เพื่ออธิบายกลุ่มบุคคลที่มีความหมกมุ่นอย่างมากกับงานอดิเรกบางอย่าง เช่น อนิเมะ มังงะ หรือเกม โดยมักจะใช้ชีวิตอยู่กับโลกส่วนตัวมากจนเกินไปจนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นน้อยลงครับ
ลักษณะเด่นของโอตาคุ:
– ความรู้เชิงลึกและความหลงใหล: โอตาคุจะมีความรู้กว้างและลึกในเรื่องที่ตนเองสนใจครับ พวกเขานั้นจะใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมากในการศึกษา รวบรวม และเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆที่พวกเขาสนใจครับ
– การสะสม: การสะสมสินค้า ของสะสม หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่พวกเขาสนใจจะเป็นเรื่องปกติในหมู่โอตาคุครับ
– การสร้างชุมชน: โอตาคุมักจะรวมตัวกันในชุมชนออนไลน์หรือออฟไลน์ เช่น ฟอรัม โซเชียลมีเดีย หรืองานอีเวนต์ต่างๆ เพื่อแบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น งานคอมิเก็ต (Comiket)เป็นต้นครับ
– ความหลากหลายของความสนใจ: แม้ว่าอนิเมะและมังงะจะเป็นภาพจำหลักว่าถ้าพูดถึงโอตาคุจะต้องหมายถึงอะนิเมะและมังงะ แต่ความสนใจของโอตาคุนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่นั้นครับ การจะเป็นโอตาคุนั้นอาจจะเป็นได้ในเรื่องของเกม ไอดอล รถไฟ ประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งเรื่องที่ไม่เป็นที่นิยมก็ตามครับ ตราบที่บุคคลคนนั้นสนใจในเรื่องนั้นมากๆ
ภาพลักษณ์ในสังคมญี่ปุ่น
ในอดีต ภาพลักษณ์ของโอตาคุในสังคมญี่ปุ่นนั้น มักจะเป็นไปในทางลบค่อนข้างมากครับ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ก็ได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้นกว่าแต่ก่อนครับ
ภาพลักษณ์เชิงลบในอดีต:
– การถูกมองว่าเป็นคนเข้าสังคมไม่ได้: ในช่วงแรกๆ โอตาคุมักถูกมองว่าเป็นพวกเก็บตัว มีปัญหาในการเข้าสังคม และหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงไปสู่โลกที่หมกมุ่นของตัวเองครับ
– ความเชื่อมโยงกับคดีอาชญากรรม: แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ภาพลักษณ์โอตาคุย่ำแย่เป็นอย่างมากคือช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 โดยเฉพาะคดีฆาตกรรมต่อเนื่องของ Tsutomu Miyazaki (รู้จักกันในชื่อ “Otaku Murderer”) ซึ่งสื่นักข่าวได้นำเสนอข่าวโดยเน้นย้ำถึงความเป็นโอตาคุของผู้ก่อเหตุ ทำให้เกิดภาพจำว่าโอตาคุเป็นบุคคลที่อันตรายอย่างมากและไม่ควรจะมีอยู่ในสังคมนั่นเองครับ
– ความหมกมุ่นและขาดความสมดุล: บางคนอาจจะมองว่าโอตาคุหมกมุ่นกับสิ่งที่ตัวเองสนใจมากเกินไป จนละเลยในเรื่องชีวิตส่วนตัว การเรียน หรือการทำงาน จนนำไปสู่การถูกมองว่าขาดความรับผิดชอบครับ
การเปลี่ยนแปลงและการยอมรับในปัจจุบัน:
– อิทธิพลทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม: ต้องบอกว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมอนิเมะ มังงะ และเกม ซึ่งเป็นแกนของวัฒนธรรมโอตาคุนั้น ทำให้คำนี้เริ่มถูกมองในแง่บวกมากขึ้น ทางฝั่งรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็สนับสนุน “Cool Japan” ซึ่งเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่นให้ไปทั่วโลก ทำให้โอตาคุกลายเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นครับ
– การรับรู้ทั่วโลก: ส่วนในต่างประเทศ คำว่า “โอตาคุ” มักถูกใช้ในเชิงบวกเพื่อเป็นการอธิบายผู้ที่ชื่นชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างมาก ซึ่งอาจจะเป็นการช่วยลดภาพลักษณ์เชิงลบในญี่ปุ่นไปได้บ้างเหมือนกันครับ
– การเปิดกว้างทางสังคม: ในสังคมญี่ปุ่นเริ่มมีความเข้าใจและยอมรับความหลากหลายของความสนใจมากขึ้น คนรุ่นใหม่จำนวนมากเองก็ไม่ได้มองว่าการเป็นโอตาคุเป็นเรื่องน่าอาย และบางคนอาจถึงกับภูมิใจในตัวตนเลยทีเดียวครับ
– การจำแนกประเภทที่ละเอียดขึ้น: ปัจจุบัน คำว่า “โอตาคุ” ถูกใช้ในหลากหลายบริบท เช่น “อนิเมะโอตาคุ” “เกมโอตาคุ” หรือแม้แต่ “รถไฟโอตาคุ” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น และช่วยลดการถูกเหมารวมไปด้วยครับ
– การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม: ในปัจจุบันโอตาคุจำนวนมากก็ไม่ได้เก็บตัวอยู่แต่ในบ้านอีกต่อไปแล้วครับ แต่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น คอสเพลย์ งานอีเวนต์ หรือการรวมกลุ่มกับผู้ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ซึ่งสามารถูกมองได้ว่าเป็นการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมนั่นเองครับ
จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันนั้นคำว่า “โอตาคุ” เริ่มถูกมองในแง่ที่ดีมากขึ้นแล้วครับ เพราะคำๆนี้เริ่มทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น แม้แต่สังคมต่างประเทศก็นำเขานี้ไปเรียกกับคนที่ชอบญี่ปุ่นมากๆด้วย มันเป็นการแสดงถึงเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นอีกแบบนึงนั่นเองครับ จากนี้ไปการเป็น “โอตาคุ” ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องปกปิดในสังคมของญี่ปุ่นอีกแล้วครับ
🩷🩷🩷🩷🩷🩷🩷🩷🩷🩷🩷🩷🩷🩷🩷🩷🩷🩷
สุดท้ายนี้หากท่านไหนที่เป็น “โอตาคุ” และมีแผนที่กำลังจะไปญี่ปุ่น
แต่ยังไม่รู้เลยว่าจะใช้ internet SIM อะไรดี
นี่เลยครับ ทางเราขออนุญาตนำเสนอ “Nihon SIM”
Internet SIM โดยจะมีระยะเวลา 4 วัน 7 วัน 10 วันและ 15 วันครับ ทุกท่านสามารถใช้งานได้แบบอุ่นใจไม่ต้องกลัว internet หมดเพราะตัว SIM เป็นแบบไม่จำกัดปริมาณ (Unlimited) ครับ โดยตัว SIM รองรับทั้ง iOS และ Android ไม่ว่าลูกค้าจะใช้งานโทรศัพท์รุ่นอะไรที่ใช้ระบบปฏิบัติการดังกล่าวก็จะสามารถใช้งาน SIM นี้ได้อย่างไม่มีปัญหาครับ